คนแม่ฮ่องสอนไม่มีโอกาสได้ดู
‘วิมานหนาม’ เสียงสะท้อน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอนไม่มีโรงหนัง
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ฟาดไม่ยั้ง รั้งไม่อยู่ สำหรับภาพยนตร์ดราม่าทริลเลอร์สุดดุเดือดอย่าง “วิมานหนาม” จากค่าย “จีดีเอช”
ร่วมกับ “ใจ สตูดิโอ” นำแสดงโดย เจฟ ซาเตอร์, อิงฟ้า วราหะ, เต้ย–พงศกร, เก่ง–หฤษฎ์, สีดา พัวพิมล พร้อมได้ผู้กำกับมือดีอย่าง บอส-นฤเบศ กูโน
ล่าสุดก็ทำรายได้ถล่มทลาย หลังเข้าฉายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา มุ่งหน้าพุ่งทะยานสู่ 50 ล้านบาททั่วประเทศ
ในภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ มีการหยิบยกประเด็นปัญหาความบอบช้ำทางสังคมมาสื่อสารมากมาย ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความจน และความไม่เท่าเทียมทางเพศ ถ่ายทอดผ่านตัวละครและผืนไร่ บนดอยแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ สถานที่จริงที่ได้ถ่ายทำ คือ ไร่ตาเพ่ง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากคอหนัง นี่อาจเป็นภาพยนตร์น้ำดีถ่ายทอดเรื่องราวจากแม่ฮ่องสอน ที่คนแม่ฮ่องสอนอาจไม่มีโอกาสได้ดู
เมื่อมีชาวเน็ตรายหนึ่งออกมาแชร์ว่า “เราคนแม่ฮ่องสอน อยากไปดูมาก ๆ แต่ที่นี่ไม่มีโรงหนังเลยค่ะ ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลดี ๆ นะคะ”
กลายเป็นเสียงสะท้อนความเหลื่อมล้ำอีกมุมจากประชาชนในพื้นที่
งานนี้ทำเอาชาวเน็ตออกมาวิจารณ์เสียงแตก มีทั้งคอมเมนต์ที่มองว่า นี่คือความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริงและเห็นอย่างชัดเจนในสังคมไทย
การเข้าถึงสื่อบันเทิงของคนในบางพื้นที่เป็นเรื่องยาก แม้ตัวภาพยนตร์ถ่ายทำที่ตราด และมีเนื้อเรื่องที่แม่ฮ่องสอน แต่ที่ตราดและแม่ฮ่องสอน กลับไม่มี ‘โรงภาพยนตร์’
ความคิดเห็นจากโลกโซเชียล :
โรงหนังต้องเข้าแม่ฮ่องสอนแล้ว
เราอยู่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ไม่มีห้าง ไม่มีฟาสต์ฟู้ด ถ้าอยากดูก็ลงเชียงใหม่ แต่เราก็อยู่ได้สบาย ๆ ไม่โหยหา
หวังว่าจะลง netflix ไว ๆ เพื่อให้คนตราดและแม่ฮ่องสอนได้ประทับใจหนังเรื่องนี้
อยู่แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน โรงหนังใก้สุด ก็โลตัสจอมทอง
ถ่ายทำที่ตราด แต่จังหวัดตราก็ไม่มีโรงหนังครับ
หนังเล่าเรื่องราวความเหลื่อมล้ำแต่ชีวิตจริงเหลื่อมล้ำกว่า
ฟังแล้วจุกอกมากครับ
เสียดายหนังดี ๆ อยากดูครับ
ขณะเดียวกัน คอมเมนต์อีกด้าน มองเรื่องความคุ้มทุนของโรงภาพยนตร์ โดยอ้างว่า โรงภาพยนตร์ไม่ใช้บริการสาธารณะ
หากประเมินกำไรแล้วไม่คุ้มค่า ก็คงไม่สามารถเปิดได้ กลายเป็นกระแสวิจารณ์ถกสนั่นในโลกโซเชียล
ทั้งนี้นอกจากเสียงสะท้อนของตัวละครชายขอบจากเรื่อง ‘วิมานหนาม’ จะสื่อไปถึงสังคมแล้ว เสียงสะท้อนจากประชาชนและคนในพื้นที่ก็สะท้อนออกมาสู่สังคมเช่นเดียวกัน