ติด 15 ม.ดัง แต่ไม่เลือก ‘จุฬาฯ’
เปิดใจ ‘น้องโอโม่’ ฉลาดเป็นกรด เลือกคณะนี้ เรียนตามความฝัน
‘น้องโอโม่’ เด็กเทพสอบติด 15 สาขา 9 มหา’ลัย เปิดใจเหตุเลือกเรียนต่อ ม.มหาสารคาม เผยเป็นความชอบส่วนตัว และอยากจบออกมาเป็นเภสัชกร
หลังจากโลกโซเชียลได้แห่แชร์คลิป นายฐิติพันธ์ วะเศษสร้อย หรือ “น้องโอโม่” นักเรียนชั้น ม.6/1 โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร ที่ยื่นพอร์ตฟอลิโอเพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย โดยปรากฏว่าเจ้าตัวมีชื่อติด 15 สาขา 9 มหาวิทยาลัย จนถูกชื่นชมในความเก่ง
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายฐิติพันธ์ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว โดย น้องโอโม่ กล่าวว่า คลิปที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมหน้าเสาธงที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อประกาศชื่อมหาวิทยาลัยที่นักเรียนสอบติด ไม่ว่าจะเป็นคณะไหน สาขาวิชาอะไร จะมีการประกาศทั้งหมด
ตอนนั้น ได้ยื่นสมัครไป 9 มหาวิทยาลัย แต่เป็นหลายสาขาวิชา โดยแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถติดได้มากกว่า 1 สาขาวิชา สรุปรวมแล้วตนสมัครติด 15 สาขาวิชาจาก 9 มหาวิทยาลัย
การที่ตนติดรอบที่ 1 ของการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (พอร์ตฟอลิโอ) ครั้งสุดท้าย จะเป็นรอบที่ยังไม่ใช้คะแนนสอบ แต่ตนใช้เป็นผลงานยื่นเข้าสมัคร ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยมัธยมชั้นปีที่ 4 เรื่องเกี่ยวกับโครงงานวิทยาศาสตร์และทางด้านนวัตกรรมการวิจัยที่ทำกับชมรมของโรงเรียน
โดยมี นางเสาวรจนี จันทวงค์ นายวิริทธิ์พล วิเศษฐี เป็นครูที่ปรึกษาโครงงาน และนางนันทิชา ธาตุระหัน ดร.กิตติยา มุกดาประเสริฐ เป็นครูที่ปรึกษาประจำชั้น ซึ่งโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ทำขึ้นมาใช้ระยะเวลาประมาณมากกว่า 1 ปี หรืออาจจะหลายเดือน เพื่อพัฒนาแข่งขันตามรายการต่าง ๆ แล้วตนได้รางวัลในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ พร้อมสะสมผลงานเหล่านั้นถ่ายทอดออกมาเป็นแฟ้มผลงาน เพื่อยื่นสมัครเข้ามาหาวิทยาลัย
ขณะเดียวกัน มีการเรียนควบคู่กันไปในโรงเรียนอีกด้วย คือการรักษาเกรดเฉลี่ยให้ได้สูงที่สุด พร้อมกับตั้งใจทำตรงนั้นให้ดีที่สุด พอถึงช่วงเวลาที่ต้องยื่นแฟ้มสะสมผลงาน จะใช้เกรดเฉลี่ยกับผลงานต่าง ๆ ที่สะสมระยะเวลาตลอด 3 ปี แล้วนำไปยื่นเข้ามาหาวิทยาลัย
ตนอยากฝากให้รุ่นน้องทุกคน ให้เล็งเห็นถึงความตั้งใจทำผลงานหรืออาจจะตั้งใจเตรียมตัวสอบ เพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปในคณะที่ตนอยากเรียนมากที่สุด
สำหรับ 15 สาขา 9 มหาวิทยาลัย ที่น้องโอโม่สมัครติดมีดังนี้
1. สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล
3. สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม
4. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ทุนเพชรพระจอมเกล้าฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5. เภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ ม.บูรพา
6. สัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
7. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี ทุน STEAMs-Creation project คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
8. สาขาวิศกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
9. สาขาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
10. สาขาฟิสิกส์วัสดุและเครื่องมือการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
11. สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูล คณะวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 12. สาขาวิศกรรมกระบวนการชีวภาพ คณะวิศกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร
13. วิทยาศาสตร์บัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
14. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
15. สาขารังสีเทคนิค คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต
น้องโอโม่ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ตนได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเรียนที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหมดและเป็นความชอบส่วนตัว ซึ่งหากจบออกมาก็จะเป็นเภสัชกร